Back

ทำความรู้จัก Data Fraud ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ที่อยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด

ทำความรู้จัก Data Fraud ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ที่อยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด

Table of Contents


ปฏิเสธไม่ได้ว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันอย่างรอบด้าน เพราะทุกสิ่งอย่างไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การค้นหาข้อมูล การเลือกซื้อสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือแม้กระทั่งการนัดพบแพทย์ ล้วนเกิดขึ้นบนโลกของอินเทอร์เน็ตแทบทั้งสิ้น เป็นผลให้มนุษย์สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย อีกทั้งยังสามารถทำได้จากทุกที่ ทุกเวลา

อย่างไรก็ตาม อินเทอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะ เมื่อมนุษย์เริ่มพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ก็จะเริ่มอัปโหลดข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ลงไปบนโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันก็มีเหล่ามิจฉาชีพมากมายที่แสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น จนกลายเป็นที่มาของภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า Data Fraud ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงในสังคม พร้อมแนะนำวิธีการรับมือที่ถูกต้อง หากอยากรู้ว่าภัยคุกคามในรูปแบบนี้ คือ อะไร สร้างความเสียหายต่อเรามากน้อยแค่ไหน รวมถึงเราจะมีวิธีป้องกันและรับมือได้อย่างไร สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้

Data Fraud คืออะไร

Data Fraud หมายถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลง ทำลาย คัดลอก หรือเข้าถึงข้อมูลบางอย่างในระบบจัดเก็บข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้โดยโพสต์ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เป็นเหตุให้มีผู้คนหลงเชื่อ จนก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านชื่อเสียง ทรัพย์สิน และอื่น ๆ ตามมา

นอกจากนั้น Data Fraud ครอบคลุมไปถึงการแก้ไข ดัดแปลง และบิดเบือนข้อมูลที่มีอยู่แล้วในระบบ รวมถึงการโพสต์ข้อมูลใหม่ลงบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และระบบภายในองค์กรด้วย

Data Fraud อยู่ในรูปแบบใดได้บ้าง

ในความเป็นจริงนั้น Data Fraud เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปและอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยตัวอย่างที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด นั่นก็คือ Fake News หรือข่าวปลอมตามอินเทอร์เน็ตหลากหลายรูปแบบ ทั้งการตัดต่อรูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือแม้แต่คลิปเสียง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บุคคลหรือองค์กรใด ๆ ได้รับความเสียหาย

อีกกรณีที่จัดว่าเป็น Data Fraud เช่นกัน คือ การแฮกบัญชีผู้ใช้งานบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย แล้วนำบัญชีเหล่านั้นไปใช้โพสต์ข้อความที่หลอกลวงและไม่เป็นความจริง เป็นเหตุให้มีผู้คนหลงเชื่อ เช่น การชักชวนหลอกลวงให้โอนเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ การบิดเบือนข้อมูลในเว็บไซต์ประเภทแชร์ลูกโซ่ การหลอกขายสินค้าที่มีสรรพคุณเกินจริง รวมไปถึงขบวนการฉ้อโกงที่นำข้อมูลส่วนตัวมาใช้แอบอ้างว่าเป็นบริษัทหรือบริการใด ๆ แล้วแจ้งว่าคุณมียอดค้างชำระให้ดำเนินการโดยทันที ก็ถือเป็น Data Fraud ที่เกิดจากการแฮกเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณไปใช้อย่างไม่ถูกต้องเช่นกัน

วิธีการป้องกัน Data Fraud ที่เกิดขึ้นกับข้อมูลส่วนบุคคล

การป้องกันและเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำคัญของผู้คนและองค์กรเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา โดยวิธีง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำได้เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ข้อมูลของตัวเองและป้องกันไม่ให้ถูกคุกคามแบบ Data Fraud มีดังนี้

ตั้งรหัสผ่านให้ซับซ้อน เดาได้ยาก

คุณควรที่จะตั้งรหัสผ่านของบัญชีผู้ใช้เว็บไซต์ต่าง ๆ ให้มีความซับซ้อนกำลังดี มีความยาวพอเหมาะ ไม่ให้เดาได้ง่าย ๆ ทางที่ดี คือ คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเว็บไซต์ในการตั้งรหัสผ่านที่มีระดับความยากที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการถูกขโมยบัญชีผู้ใช้ และเข้าไปสืบค้นและคัดลอกข้อมูลจากในบัญชี หรือนำบัญชีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ

นอกจากการตั้งรหัสผ่านให้ซับซ้อนแล้ว การเปลี่ยนรหัสผ่านบ้าง ไม่ใช้รหัสผ่านเดิมตลอด และไม่ใช้รหัสผ่านเดียวกันกับทุกอย่างก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยรักษาความปลอดภัยให้ข้อมูลได้ดียิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากจะทำให้เดารหัสได้ยากยิ่งขึ้นและทำให้บัญชีไม่ถูกแฮกซ้ำด้วย

เข้ารหัสข้อมูลก่อนอัปโหลดข้อมูลลงบนอินเทอร์เน็ต

หากจำเป็นต้องอัปโหลดเอกสาร หรือข้อมูลที่มีความเป็นส่วนตัวสูงหรือเป็นความลับ ก็ควรมีการใส่รหัสป้องกันเสียก่อน เพื่อให้ผู้ที่สามารถเข้าถึงได้เป็นบุคคลภายใน หรือเป็นคนที่คุณไว้ใจเท่านั้น เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลหรือถูกแฮกโดยง่าย

หลีกเลี่ยงการให้ระบบจดจำรหัสผ่านโดยอัตโนมัติ

ในปัจจุบันนี้ Browser มักอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งานโดยอนุญาตให้ระบบจดจำรหัสผ่าน และชื่อบัญชีผู้ใช้อัตโนมัติ แต่การจดจำข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ไว้ใน Browser ก็อาจไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป อาจมีแฮกเกอร์ที่สามารถเจาะเข้าไปในระบบ Browser หรือบัญชีของคุณเพื่อขโมยข้อมูลรหัสผ่านเหล่านี้ได้เช่นกัน

ลบไฟล์ชั่วคราวทิ้งอย่างสม่ำเสมอ

ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือแม้แต่สมาร์ตโฟนของคุณ มักจะมีไฟล์ชั่วคราวที่เราสร้างขึ้นหรือดาวน์โหลดมาโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจอยู่เสมอ และอาจมีข้อมูลส่วนตัวของเราอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ สคริปต์ หรือ Cookie ของเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยที่หลายไฟล์นั้นอาจไม่ได้เป็นไฟล์สำคัญที่เราจะใช้ประโยชน์อีกในอนาคต เพราะฉะนั้นคุณจึงควรทำการลบไฟล์ชั่วคราวเหล่านั้นอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ถูกแฮกไปได้

ตั้งค่าการใช้งาน Cookie ในเว็บไซต์ที่คุณเข้าใช้

ข้อมูล Cookie ที่เก็บจากการเข้าชมเว็บไซต์ และใช้งานเว็บไซต์ ก็ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวเช่นเดียวกัน โดยที่ข้อมูลเหล่านี้มักจะถูกนำไปใช้เพื่อการตลาดของเว็บไซต์นั้น ๆ แต่ก็มีบางเว็บไซต์ที่นำข้อมูลคุกกี้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้แก่กับบุคคลที่สาม เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยไม่ยินยอม คุณควรจำกัดการใช้งาน Cookie ของเว็บไซต์ที่คุณเข้าไปโดยตั้งค่าให้เก็บเพียงข้อมูล Cookie ที่สำคัญจำเป็นเท่านั้น


กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันผู้คนมากมายต่างพยายามแสวงหาผลประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่น จนเกิดเป็นภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตหลากหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็สร้างความเสียหายต่อผู้เป็นเจ้าของข้อมูลทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น การเรียนรู้วิธีการป้องกันภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย และหากคุณเป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือตัวแทนองค์กรใด ๆ ที่อยากสร้างความปลอดภัยให้แก่ข้อมูลส่วนตัวของบุคลากรหรือข้อมูลองค์กร สามารถอ่านบทความเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ได้ที่ PDPA Pro

Data SecurityData PrivacyCyber SecurityData Fraud

สร้าง Privacy Policy ง่ายๆ

อย่างมืออาชีพ ถูกต้องตาม PDPA

สร้าง Policy ตอนนี้!

บทความที่เกี่ยวข้อง

บริษัท เอ็นเดต้าธอธ จำกัด
1778 อาคารซัมเมอร์ฮับ ออฟฟิศ, ชั้น 6 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110 ประเทศไทย

โทร: 02-024-5560
sales@ndatathoth.com

©2024 nDataThoth Limited All Rights Reserved.

HelpTerms of UsePrivacy Policy